วันอาทิตย์ที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2555

ประกาศ : ลูกสุนัขหาย

  

ประกาศ : ลูกสุนัข อายุ 4 เดือน พันธุ์ผสม ชิวาว่า+ปั๊ก หาย

ลักษณะ : เป็นสุนัขเข้ากับคนง่าย ชอบวิ่งตาม ชอบเอาลิ้นจุกปาก ฟันล่างเหยิน 
มีปลอกคอหนาสีชมพู

หายไปช่วงเวลาประมาณ 17.00 นาฬิกา วันพุธ ที่ 12 กันยายน
บริเวณ ถนนในหมู่บ้าน ตำบลหนองวัวซอ 
(คาดว่าอาจเดินพลัดหลงไปแล้วมีคน จับไป )


## หากผู้ใดพบเห็น รบกวนติดต่อกลับ

" หมายเลข 087-8585584 " ไนท์


เจ้าของเป็นห่วงมาก !! ขอขอบพระคุณมา ณ ที่นี้ด้วยคะ



วันศุกร์ที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2555

ประกบยิงพ่อเสียชีวิตคาที่ขณะขับ จยย.ส่งลูกสาวไปโรงเรียน

วันนี้ (14 ก.ย.) เมื่อเวลา 07.30 น. พ.ต.อ.ศักดา เจริญกุล ผกก.สภ.โสร่ง อ.ยะรัง จ.ปัตตานี ได้รับแจ้งมีเหตุยิงกันมีผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บ เหตุเกิดบนถนนสายปัตตานี-ยะลา ม.1 ต.เข้าตูม จึงรีบนำกำลังไปตรวจสอบที่เกิดเหตุ โดยพบผู้เสียชีวิตนอนตายจมกองเลือด ทราบชื่อคือ นายสมจิตร ทองนะ อายุ 34 ปี อยู่บ้านเลขที่ 86 ม.1 ต.กุดหมากไฟ อ.หนองวัวซอ จ.อุดร
ธานี มีบาดแผลถูกยิงด้วยอาวุธปืนพกสั้นเข้าศีรษะ 1 นัด และรถจักรยานยนต์ยี่ห้อฮอนด้า ทะเบียน ขงค 497 ยะลา ของผู้ตายล้มข้างทาง

นอกจากนี้ ยังมีผู้ได้รับบาดเจ็บอีก 2 คน ถูกนำส่งโรงพยาบาลยะรังแล้ว ทราบชื่อคือ นางถวิล อโนทัย อายุ 36 ปี และ ด.ญ.พัชรธิดา ทองนะ อายุ 7 ปี ทั้งสองมีบาดแผลถลอกตามแขนขาและลำตัวเนื่องจากรถล้ม

สอบสวนทราบว่า ทั้ง 3 คนเป็นพ่อแม่ลูกกัน ก่อนเกิดเหตุผู้ตายขับขี่รถจักรยานยนต์มีภรรยานั่งหลังส่วนลูกสาวนั่งกลาง เพื่อพาลูกสาวไปส่งที่โรงเรียน จากนั้นก็จะไปทำงานในพื้นที่ อ.เมืองยะลา แต่ระหว่างทางมาถึงที่เกิดเหตุถูกคนร้าย 2 คนขับขี่รถจักรยานยนต์ตามประกบยิงจนเสียชีวิตทันที ส่วนภรรยาและลูกได้รับบาดเจ็บ หลังเกิดเหตุเจ้าหน้าที่ได้ปิดเส้นทางเข้าออกเพื่อไล่ล่าคนร้ายแต่ก็ไร้วี่แวว ทั้งนี้ เชื่อว่าเป็นการสร้างสถานการณ์ไม่สงบในพื้นที่

ที่มา http://www.manager.co.th/South/ViewNews.aspx?NewsID=9550000113271

วันอาทิตย์ที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2555

โครงการแพทย์ชนบทคืนถิ่น รพ.อุดรธานี

 
ผู้เชี่ยวชาญชื่นชมการผลิตแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว โครงการแพทย์ชนบทคืนถิ่น รพ.อุดรธานี และ รพ.หนองวัวซอ จังหวัดอุดรธานีเจ๋ง

เมื่อวันที่ 14 กันยายน 2554 นพ.วีระวัฒน์ พันธุ์ครุฑ รองเลขาธิการ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) พร้อมด้วย ศ.นพ.บุญชอบ พงษ์พานิชย์ ประธานโครงการแพทย์ชนบทคืนถิ่น ศ.นพ.ไพจิตร ปวะบุตร ประธานมูลนิธิเด็กโรคหัวใจฯ นพ.ปรีดา แต้อารักษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เขต 8 อุดรธานี และ คณะเยี่ยมนิเทศติดตามโครงการแพทย์ชนบทคื

นถิ่น “แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว” ณ โรงพยาบาลหนองวัวซอ จ.อุดรธานี และ โรงพยาบาลอุดรธานี หลังรับฟังบรรยายสรุประบบการจัดการเรียนการสอนรับฟังปัญหาอุปสรรคและข้อเสนอ แนะต่อการดำเนินงาน จากแพทย์ผู้เรียนและครูผู้สอน ชื่นชมทำได้ผลดีเกินคาดทั้งที่เป็นพื้นที่ชนบทผู้เชี่ยวชาญชี้ภายใน 10ปี ข้างหน้าประเทศไทยจะเป็นศูนย์กลางการผลิตแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวอันดับหนึ่ง ในภูมิภาคเอเชียที่มีคุณภาพสูง

ศ.นพ.บุญชอบ พงษ์พานิชย์ ประธานโครงการแพทย์ชนบทคืนถิ่น เปิดเผยว่า โครงการแพทย์ชนบทคืนถิ่น “แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว” และ โครงการการเพิ่มการผลิตแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวในส่วนภูมิภาค เป็นโครงการความร่วมมือ ระหว่างสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กระทรวงสาธารณสุข ราชวิทยาลัยแพทย์ศาสตร์ครอบครัวแห่งประเทศไทย และสนับสนุนการดำเนินงานโดย “ทุนการกุศลสมเด็จย่า” และ “ทุนการกุศล กว.” ในการฝึกอบรมแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวในขณะปฏิบัติงาน (In-service training) ส่ง เสริมให้แพทย์ที่กำลังปฏิบัติงานและอยู่ระหว่างการชดใช้ทุนในโรงพยาบาลได้ รับการฝึกอบรม เพื่อสอบวุฒิบัตรแสดงความรู้ความชำนาญในการประกอบวิชาชีพเวชกรรมสาขา เวชศาสตร์ครอบครัวพร้อมทั้งสนับสนุนให้โรงพยาบาลเป็นแหล่งการเรียนการสอน ด้านเวชศาสตร์ครอบครัวให้กับแพทย์ในโครงการ

ทีมนิเทศได้เยี่ยมติดตาม นพ.อัศวเทพ อภัยโสนักศึกษาฝึกปฏิบัติงานในโรงพยาบาลอุดรธานี และ นพ. ณัฐวุธ มณีขาว ฝึกปฏิบัติงานโรงพยาบาลหนองวัวซอ ซึ่งทั้งสองเป็นแพทย์ที่เข้าร่วมโครงการ ได้รับการฝึกอบรมโดยการปฏิบัติงานในโรงพยาบาลอุดรธานี และโรงพยาบาลหนองวัวซอ มีระยะเวลา 3 ปี โดยไม่ต้องลาศึกษาต่อ ใน การฝึกปฏิบัติจะอยู่ภายใต้การดูแลแนะนำของแพทย์พี่เลี้ยงผู้เชี่ยวชาญด้าน เวชศาสตร์ครอบครัวในสถาบันสมทบ ก็คือ รพ.อุดรธานีและรพ.หนองวัวซอ ได้รับการสนับสนุนด้านวิชาการด้านเวชศาสตร์ครอบครัวโดยสถาบันหลักจากโรง พยาบาลขอนแก่น ด้านกระบวนการฝึกอบรมและการเรียนการสอน นักศึกษาแพทย์ทั้งสองได้เล่าผ่านการบรรยายว่า เป็นการเรียนการสอนที่ประยุกต์หลักการจัดการเรียนรู้แบบผู้ใหญ่ เน้นการเรียนรู้จากประสบการณ์ เรียนรู้ผ่านบริบทของผู้เรียน และเรียนรู้ผ่านแฟ้มสะสมงาน ตลอดจนการส่งเสริมให้จัดกิจกรรมfamily medicine academic half-day ในสถาบันสมทบ มีการควบคุมมาตรฐานการฝึกอบรมโดย ราชวิทยาลัยแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวแห่งประเทศไทย นพ. ณัฐวุธ มณีขาว กล่าวถึงความรู้สึกหลังได้เข้าร่วมโครงการว่า ตนเองภูมิใจและรู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้เข้าร่วมโครงการ ได้ศึกษาด้านเวชศาสตร์ครอบครัว สัมผัสและช่วยเหลือรักษาผู้ป่วยที่ด้อยโอกาสเข้าไม่ถึงบริการของโรงพยาบาล ให้กลับมามีสุขภาพและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น รู้สึกภูมิใจและมีความสุขเป็นอย่างมาก หลังจบการศึกษาพร้อมที่จะทำงานในหน่วยปฐมภูมิ

ด้านการสนับสนุนทุนการศึกษา นพ.วีระวัฒน์ พันธุ์ครุฑ รองเลขาธิการสปสช. กล่าวว่า การ สนับสนุนทุนแพทย์ที่เข้าโครงการสปสช. สนับสนุนค่าใช้จ่ายฝึกอบรมรวมทั้งการศึกษาวิจัยเพื่อตอบสนองการพัฒนาคุณภาพ บริการเป็นระยะเวลา 3 ปี ที่ร่วมโครงการ แบ่งเป็นปีที่หนึ่งไม่เกิน 120,000 บาท/คน ปีที่สอง ไม่เกิน 240,000 บาท/คน และปีที่สามไม่เกิน 360,000 บาท/คน สนับสนุนเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานโครงการให้สถาบันสมทมและสถาบันหลัก 100,000 บาทต่อแพทย์ที่เข้าร่วมโครงการ 1 คน และแพทย์ที่เข้าร่วมโครงการแพทย์ชนบทคืนถิ่น ได้ทุนจาก “ทุนการกุศลสมเด็จย่า” และ “ทุนการกุศล กว.” และมูลนิธิทุนท่านท้าวมหาพรหม โรงแรมเอราวัณ สนับสนุนค่าใช้จ่ายการศึกษาดูงานในประเทศและต่างประเทศ

แพทย์ในโครงการที่จบการฝึกอบรม ปฏิบัติงานใช้ทุนตามเงื่อนไขการชดใช้ทุนเป็นเวลา 3 ปี ในโรงพยาบาลหรือศูนย์แพทย์ชุมชน สังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งโครงการได้ตั้งเป้าผลิตแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวรายใหม่ ที่เป็นบุคลากรที่มีเจตคติ พฤติกรรม และจริยธรรมที่เหมาะสมต่อวิชาชีพเวชปฏิบัติครอบครัว สามารถให้บริการทางการแพทย์ในระดับปฐมภูมิในพื้นที่ชนบทที่ห่างไกลและ ทุรกันดารของประเทศ เพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่าปีละ 20 คน พร้อมการจัดระบบธำรงรักษา แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวให้สามารถปฏิบัติงานและคงอยู่ในระบบปฐมภูมิได้อย่าง ต่อเนื่องและยั่งยืน นพ.วีระวัฒน์ กล่าว

นพ.ปรีดา แต้อารักษ์ ผอ.สปสช.เขต 8 อุดรธานี กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยยังขาดแคลนแพทย์สาขานี้เป็นจำนวนมาก การที่จะได้บุคลากรที่มีความรู้ความสามารถและมีทัศนคติที่สอดคล้องกับปรัญชา แนวคิดการบริการในปฐมภูมิ จึงจำเป็นต้องมีการประสานความรู้ร่วมมือกันอย่างจริงจังในการร่วมผลิต “แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว” เพื่อให้ครอบคลุมประชาชนคนไทยอย่างทั่วถึง และเป็นการสร้างหลักประกันสุขภาพที่มีคุณภาพด้านการแพทย์การสาธารณสุขที่ ยั่งยืน เกิดความเสมอภาค ผู้ด้อยโอกาสสามารถเข้าถึงบริการสุขภาพที่จำเป็นได้มากขึ้น โดยใช้องค์ความรู้เวชศาสตร์ครอบครัวเป็นหลักในการทำงาน

วันระพี สปปช. 8 ภาพ / ข่าว

วันอาทิตย์ที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2555

แก๊งค้ายาอุดรฯ ผุดยาบ้ายัดบุหรี่ มวนละ300บาท



เมื่อ 7 ส.ค. ผู้สื่อข่าว "ข่าวสด" รายงานว่า พ.ต.ต.ประเสริฐ ธรรมชัย สว.สส.สภ.เมืองอุดรธานี ทำการสืบทราบมาว่ามีการลักลอบซื้อขายยาบ้ากันที่บริเวณร้านค้าชุมชนดอนอุดม ต.หมากแข้ง อ.เมือง จ.อุดรธานี จึงได้สั่งการให้ ร.ต.ท.อรรคพล ยี่เกาะ รอง สว.ฯ ร.ต.ต.ประสิทธิ์ รักษ์สูงเนิน ร.ต.ต.อุดม เหง้าปุ่น นำกำลังชุดสืบสวนเข้าสืบสวนจับกุม กระทั่งพบผู้ต้องสงสัยมีพฤติกรรมจำหน่ายยาบ้าเป็นเจ้าของร้านค้าชุมชนดอน อุดม 2 เลขที่ 240/9 ม.7 อยู่บริเวณท้ายซอยจิ
นตคาม จึงให้สายตร.ทำทีติดต่อล่อซื้อยาบ้า 3 เม็ดในราคา 900 บาท โดยยาบ้าถูกยัดในมวนบุหรี่ช่วงติดก้นกรองมวนละ 1 เม็ด จากนั้นเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ดักซุ่มอยู่บริเวณใกล้ๆ จึงแสดงตัวเข้าจับกุม พบเจ้าของร้านทราบชื่อต่อมาคือ นายชัยชนะ ขุราศี อายุ 55 ปี ยอมจำนนต่อหลักฐาน นอกจากนี้ยังตรวจค้นในตู้ขายบุหรี่พบบุหรี่ยี่ห้อวันเดอร์ จำนวน 74 ซอง ที่เตรียมไว้ยัดยาบ้า และบุหรี่ที่ยัดยาบ้าเสร็จแล้วจำนวน 21 มวนเป็นยาบ้า 21 เม็ด

ในขณะที่เจ้าหน้าที่ตำรวจกำลังตรวจค้นจับกุมนายชัยชนะ อยู่นั้นได้มีชายสองคนเดินเข้ามาในร้านและส่งสัญญาณขอซื้อบุหรี่มวนพิเศษ 1 มวน เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงคุมตัวไว้สอบสวนทราบชื่อคือนายนิรุต เทพจันดา อายุ 32 ปี อยู่บ้านเลขที่ 60 ม.7 ต.หนองบัวบาน อ.หนองวัวซอ จ.อุดรธานี และนายสมศักดิ์ บัวปัด อายุ 30 ปี อยู่บ้านเลขที่ 163/3 ม.17 บ้านดอนบาก ต.บ้านโคก อ.สร้างคอม จ.อุดรธานี และตรวจปัสสาวะมีสีม่วง ทั้งสองให้การรับสารภาพว่าทำงานรับจ้างยกแบกของอยู่แถวตลาดผ้าห้าแยก ออกเงินคนละ 150 บาท รวมเป็น300 บาท เพื่อมาซื้อยาบ้ากับนายชัยชนะ โดยทุกครั้งจะตะโกนขอซื้อบุหรี่ เพื่อไม่ให้ลูกค้าในร้านผิดสังเกต

ร.ต.ท.อรรคพล กล่าวว่า สืบทราบมานานแล้วว่ามีการซื้อขายยาบ้าแต่ค้นไม่เจอของกลางเพราะคนขายเอายา บ้ายัดในมวนบุหรี่ตบตาตำรวจ แต่เมื่อจับกุมคนเสพๆได้และขยายผลว่ายาบ้ายัดอยู่ในมวนบุหรี่ จึงวางแผนทำการล่อซื้อสำเร็จ ซึ่งผู้ต้องหารับสารภาพว่ามีกลุ่มพวกรับจ้างทวงหนี้เงินกู้นอกระบบเอายาบ้า มาส่งขายให้เม็ดละ 200 บาท โดยยัดไว้ในมวนบุหรี่แล้วก็นำออกขายมวนละ 300 บาทโดยอาศัยว่าเป็นร้านค้าเบ็ดเตล็ด ยาบ้าก็จะซุกปะปนกับซองบุหรี่ทั่วไป เมื่อขายดีจึงลองทำเองเอายาบ้ายัดใส่บุหรี่ก้นกรองขายมานานเป็นปีแล้ว ก่อนจะจนมุมในวันนี้

ที่มา : http://www.khaosod.co.th/

วันอาทิตย์ที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2555

รวบช่างแกะสลักตุ๋นพระทั่วอีสาน



วันที่ 22 ส.ค.55 พ.ต.ต.ชลธิชา อักษร สว.สส.สภ.เมืองอุดรธานี รับแจ้งจากพระครูถาวร เจ้าอาวาสวัดป่าดงเจริญ ต.โคกสะอาด ว่ามีผู้ต้องสงสัยเป็นช่างแกะสลักหินพระพุทธรูปเข้ามาติดต่องานในวัด ซึ่งเคยเบี้ยวเงินค่าจ้างในการแกะสลักป้ายหินเป็นชื่อทางเข้าวัด และแกะสลักสิงโตคู่ เชิดเงินไปกว่า 3 หมื่นบาท และยังเชิดเงินค่าแกะสลักพระที่วัดป่าหนองหัวคู ต.หนองหัวคู อ.บ้านผือ จ.อุดรธานี มาแล้ว จึงนำกำลังเข้าจับกุมนายเนวิน มีจิตร อายุ 35 ปี อยู่บ้านเลขที่ 36 ม.6 บ้านนา
กะเดา ต.สายนาวัง อ.นาคู จ.กาฬสินธุ์ พร้อมด้วยกระเป๋าเครื่องมือช่างพร้อมอุปกรณ์งานแกะสลัก 1 ชุด ภาพตัวอย่างพระพุทธรูปแกะสลัก 25 แผ่น จึงคุมตัวไปสอบสวน

พ.ต.ต.ชลธิชาตรวจสอบพบว่า ผู้ต้องหาไปหลอกต้มตุ๋นเอาเงินจากพระที่ว่าจ้างให้ไปแกะสลักพระอีกจำนวนมาก ทั่วภาคอีสาน มีวัดป่าตาลอุดม จ.กาฬสินธ์ วัดกกตูม อ.ดงหลวง จ.มุกดาหาร วัดป่าทรงธรรม อ.กุมภวาปี จ.อุดรธานี วัดป่าพุทธญาณบารมีมหาราช จ.เลย วัดป่าธรรมสถานนาคำหลวง จ.กาฬสินธุ์ วัดป่าทุ่งคำบอน อ.เมือง จ.ศรีษะเกษ วัดป่าภูผาแดง อ.หนองวัวซอ จ.อุดรธานี วัดสว่าง ต.บุ่งแก้ว อ.โนนสะอาด จ.อุดรธานี วัดป่าหนองกุงใหญ่ จ.ร้อยเอ็ด รวมเป็นเงินกว่าล้านบาท

นายเนวินผู้ต้องหา ให้การรับสารภาพว่า เป็นช่างแกะสลักหินมานานกว่า 15 ปี ก่อนหน้านี้ไปรับจ้างแกะสลักพระที่วัดป่าในเขต จ.สกลนคร ถูกเจ้าอาวาสวัดบังคับให้แกะสลักในราคา 2 หมื่นบาท แล้วพระไปรับเงินจากเจ้าภาพ 5 หมื่นบาท แต่พอถึงวันรับเงินก็ถูกทางวัดเบี้ยวค่าจ้าง ต้องไปกู้เงินมาจ่ายค่าแรงให้ลูกน้อง ตนก็ป่วยเป็นโรคนิ่วในไตและโรคปอด จากการทำงานที่ต้องเจอกับฝุ่นหินทุกวัน เพื่อนร่วมงานก็ตายไปแล้วถึง 5 คน ถูกหินทับตายไป 2 คน ต้องหาเงินมารักษาตัว จากนั้นมาก็เกิดความแค้นที่ถูกพระเบี้ยวค่าแรง เลยไปรับงานแกะสลักตามวัด แล้วก็เบี้ยวงานเชิดเงินมัดจำหนีไปรับงานที่อื่นๆ เรื่อยไป กระทั่งถูกจับได้ดังกล่าว จึงคุมตัวผู้ต้องหาไว้ดำเนินคดีตามกฎหมายกันต่อไป

ที่มา : http://www.khaosod.co.th/

วันอาทิตย์ที่ 5 สิงหาคม พ.ศ. 2555

พบโรคมือ เท้า ปาก 14 อำเภอใน จ.อุดรฯ แล้วกว่า 79 ราย

สสจ.อุดรธานี รายงานสถานการณ์โรคมือ เท้า ปาก จ.อุดรธานี มีผู้ป่วยสะสมกว่า 79 รายแล้ว เฉพาะ ก.ค.เดือนเดียวมีถึง 25 ราย กระจายครอบคลุม 14 อำเภอ วางมาตรการเชิงรุก จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการควบคุมโรค และจัดตั้งทีมเคลื่อนที่เร็วระดับอำเภอ รายงานสถานการณ์และควบคุมโรค

วันนี้ (23 ก.ค.) ที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดอุดรธานี นพ.สัญชัย ปิยะพงษ์กุล นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดอุดรธานี (สสจ.) เปิดแถลงข่าวต่อสื่อมวลชน ถึงสถานการณ์โ
รคมือ เท้า ปากของจังหวัดอุดรธานีว่า นับตั้งแต่เดือนมกราคม-วันที่ 18 กรกฎาคม 2555 พบผู้ป่วยโรคมือ เท้า ปากแล้ว 79 ราย เฉพาะเดือน ก.ค. 2555 เดือนเดียวพบ 25 ราย

ทั้งนี้ เพื่อป้องกันและปราบปรามโรคดังกล่าว สสจ.อุดรธานีได้ตั้งศูนย์ปฏิบัติการควบคุมเป็นศูนย์กลางปฏิบัติการป้องกัน และปราบปราม ส่วนในระดับอำเภอได้ตั้งทีมเคลื่อนที่เร็ว พร้อมกำชับไปยังศูนย์ดูแลเด็ก โรงเรียนอนุบาล ประถม และศูนย์รับเลี้ยงดูเด็กของเอกชนกว่า 1,000 แห่ง ดูแลเด็กอย่างใกล้ชิด ให้ประสานงานกับสำนักงาน สสจ.ได้ตลอด 24 ชั่วโมง

นพ.สัญชัย ปิยะพงษ์กุล กล่าวถึงรายละเอียดสถานการณ์ของโรคมือ เท้า ปากในพื้นที่จังหวัดอุดรธานีว่า มีรายงานจากงานระบาดวิทยา สนง.สาธารณสุขจังหวัดอุดรธานีพบว่า นับตั้งแต่เดือน ม.ค.-วันที่ 18 ก.ค. 2555 มีรายงานพบผู้ป่วยจำนวน 79 ราย แบ่งเป็นเพศชาย 52 ราย เพศหญิง 27 ราย โดยมีผู้ป่วยกระจายอยู่ใน 14 อำเภอ ได้แก่ อ.ประจักษ์ศิลปาคม, อ.สร้างคอม, อ.เมือง, อ.หนองวัวซอ, อ.กุดจับ, อ.เพ็ญ, อ.โนนสะอาด, อ.ไชยวาน, อ.ศรีธาตุ, อ.ทุ่งฝน, อ.บ้านผือ, อ.น้ำโสม, อ.หนองหาน และ อ.กุมภวาปี ถือว่าสูงกว่าปีที่แล้วประมาณ 2 เท่าตัว

ทั้งนี้ เฉพาะในเดือน ก.ค.พบผู้ป่วยสูงถึง 25 ราย กระจายอยู่ใน อ.หนองวัวซอ 2 ราย, อ.เมือง 12 ราย, อ.กุดจับ 3 ราย, อ.กุมภวาปี, อ.โนนสะอาด, อ.บ้านผือ, อ.น้ำโสม และ อ.สร้างคอม อำเภอละ 1 ราย อ.เพ็ญ 3 ราย โดยศูนย์รับเลี้ยงเด็กของ อ.หนองวัวซอ และเทศบาลตำบลหนองหาน ได้สั่งปิดศูนย์ฯ เป็นเวลา 5 วันเพื่อทำความสะอาดเครื่องมือเครื่องใช้เพื่อควบคุมโรคและกำจัดเชื้อแล้ว

สำหรับมาตรการเชิงรุก ทางจังหวัดได้จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการควบคุมโรค ในระดับอำเภอให้จัดตั้งทีมเคลื่อนที่เร็ว หากมีข่าวหรือพบเด็กที่มีอาการไข้ เป็นตุ่มแดงใสให้ควบคุมทันที

พร้อมกันนี้ให้โรงพยาบาลประจำตำบล โรงพยาบาลประจำอำเภอทุกแห่งรายงานสถานการณ์ในพื้นที่ให้ สสจ.ทุกวันเวลา 08.30 น. และให้ประสานงานกับ สสจ.และตัวนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดทางหมายเลขโมบายล์ 08-1873-1591 หรือ 0-4222-3944 ตลอดเวลา 24 ชั่วโมง เพื่อทางนายแพทย์สาธารณสุขจะได้รายงานไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดต่อไป อย่างไรก็ตาม จังหวัดอุดรธานีมีศูนย์ดูแลเลี้ยงเด็ก 661 แห่ง โรงเรียนอนุบาล-ประถมศึกษา 879 แห่ง สถานรับเลี้ยงเด็กเอกชน 26 แห่ง