วันอาทิตย์ที่ 5 สิงหาคม พ.ศ. 2555

พบโรคมือ เท้า ปาก 14 อำเภอใน จ.อุดรฯ แล้วกว่า 79 ราย

สสจ.อุดรธานี รายงานสถานการณ์โรคมือ เท้า ปาก จ.อุดรธานี มีผู้ป่วยสะสมกว่า 79 รายแล้ว เฉพาะ ก.ค.เดือนเดียวมีถึง 25 ราย กระจายครอบคลุม 14 อำเภอ วางมาตรการเชิงรุก จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการควบคุมโรค และจัดตั้งทีมเคลื่อนที่เร็วระดับอำเภอ รายงานสถานการณ์และควบคุมโรค

วันนี้ (23 ก.ค.) ที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดอุดรธานี นพ.สัญชัย ปิยะพงษ์กุล นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดอุดรธานี (สสจ.) เปิดแถลงข่าวต่อสื่อมวลชน ถึงสถานการณ์โ
รคมือ เท้า ปากของจังหวัดอุดรธานีว่า นับตั้งแต่เดือนมกราคม-วันที่ 18 กรกฎาคม 2555 พบผู้ป่วยโรคมือ เท้า ปากแล้ว 79 ราย เฉพาะเดือน ก.ค. 2555 เดือนเดียวพบ 25 ราย

ทั้งนี้ เพื่อป้องกันและปราบปรามโรคดังกล่าว สสจ.อุดรธานีได้ตั้งศูนย์ปฏิบัติการควบคุมเป็นศูนย์กลางปฏิบัติการป้องกัน และปราบปราม ส่วนในระดับอำเภอได้ตั้งทีมเคลื่อนที่เร็ว พร้อมกำชับไปยังศูนย์ดูแลเด็ก โรงเรียนอนุบาล ประถม และศูนย์รับเลี้ยงดูเด็กของเอกชนกว่า 1,000 แห่ง ดูแลเด็กอย่างใกล้ชิด ให้ประสานงานกับสำนักงาน สสจ.ได้ตลอด 24 ชั่วโมง

นพ.สัญชัย ปิยะพงษ์กุล กล่าวถึงรายละเอียดสถานการณ์ของโรคมือ เท้า ปากในพื้นที่จังหวัดอุดรธานีว่า มีรายงานจากงานระบาดวิทยา สนง.สาธารณสุขจังหวัดอุดรธานีพบว่า นับตั้งแต่เดือน ม.ค.-วันที่ 18 ก.ค. 2555 มีรายงานพบผู้ป่วยจำนวน 79 ราย แบ่งเป็นเพศชาย 52 ราย เพศหญิง 27 ราย โดยมีผู้ป่วยกระจายอยู่ใน 14 อำเภอ ได้แก่ อ.ประจักษ์ศิลปาคม, อ.สร้างคอม, อ.เมือง, อ.หนองวัวซอ, อ.กุดจับ, อ.เพ็ญ, อ.โนนสะอาด, อ.ไชยวาน, อ.ศรีธาตุ, อ.ทุ่งฝน, อ.บ้านผือ, อ.น้ำโสม, อ.หนองหาน และ อ.กุมภวาปี ถือว่าสูงกว่าปีที่แล้วประมาณ 2 เท่าตัว

ทั้งนี้ เฉพาะในเดือน ก.ค.พบผู้ป่วยสูงถึง 25 ราย กระจายอยู่ใน อ.หนองวัวซอ 2 ราย, อ.เมือง 12 ราย, อ.กุดจับ 3 ราย, อ.กุมภวาปี, อ.โนนสะอาด, อ.บ้านผือ, อ.น้ำโสม และ อ.สร้างคอม อำเภอละ 1 ราย อ.เพ็ญ 3 ราย โดยศูนย์รับเลี้ยงเด็กของ อ.หนองวัวซอ และเทศบาลตำบลหนองหาน ได้สั่งปิดศูนย์ฯ เป็นเวลา 5 วันเพื่อทำความสะอาดเครื่องมือเครื่องใช้เพื่อควบคุมโรคและกำจัดเชื้อแล้ว

สำหรับมาตรการเชิงรุก ทางจังหวัดได้จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการควบคุมโรค ในระดับอำเภอให้จัดตั้งทีมเคลื่อนที่เร็ว หากมีข่าวหรือพบเด็กที่มีอาการไข้ เป็นตุ่มแดงใสให้ควบคุมทันที

พร้อมกันนี้ให้โรงพยาบาลประจำตำบล โรงพยาบาลประจำอำเภอทุกแห่งรายงานสถานการณ์ในพื้นที่ให้ สสจ.ทุกวันเวลา 08.30 น. และให้ประสานงานกับ สสจ.และตัวนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดทางหมายเลขโมบายล์ 08-1873-1591 หรือ 0-4222-3944 ตลอดเวลา 24 ชั่วโมง เพื่อทางนายแพทย์สาธารณสุขจะได้รายงานไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดต่อไป อย่างไรก็ตาม จังหวัดอุดรธานีมีศูนย์ดูแลเลี้ยงเด็ก 661 แห่ง โรงเรียนอนุบาล-ประถมศึกษา 879 แห่ง สถานรับเลี้ยงเด็กเอกชน 26 แห่ง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น